ประวัติ กรมพลาธิการทหารเรือ

ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประเทศสยามยังมีการปกครองแบบจตุสดมภ์ มี “กรมพระกลาโหม” รับผิดชอบกิจการฝ่ายทหาร และ “กรมพระมหาดไทย” รับผิดชอบกิจการฝ่ายพลเรือน ในขณะนั้นกิจการทหารเรือ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ คือ “กรมอรสุมพล” (มีกองทหารบกสำหรับเรือรบหรือที่เรียกว่า ทหารมรีน อยู่ในสังกัด) อยู่ในบังคับบัญชาของสมุหพระกลาโหม และ “ทหารเรือฝ่ายพระราชวังบวร” หรือ “ทหารเรือวังหน้า” อยู่ในบังคับบัญชาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงกิจการทหารของสยามประเทศขึ้นใหม่ ให้มีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศในยุโรป โดยมี “ประกาศจัดการทหาร ร.ศ.๑๐๖” (พ.ศ.๒๔๓๐) โดยได้ทรงจัดตั้ง “กรมยุทธนาธิการ” ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ มีลักษณะเป็นกรมกลาง ทำหน้าที่บังคับบัญชา ทหารและพลเรือนอันเกี่ยวข้องกับทหารบกและทหารเรือ โดยพระองค์ท่านทรงดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่ง “จอมทัพ” และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหารในกิจการฝ่ายทหารเรือนั้น ได้รวมกำลัง ๒ ส่วนข้างต้นเข้าด้วยกัน เรียกว่า “กรมทหารเรือ” มีหน่วยขึ้นตรง ๕ หน่วย คือ

กรมคลังพัศดุทหารเรือ มีหน้าที่อำนวยการและตรวจตราควบคุมการเบิกจ่าย ซื้อหาสิ่งของที่ใช้ในราชการ มีนายคลังใหญ่เป็นหัวหน้า จึงนับได้ว่า กิจการพลาธิการทหารเรือ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีการปรับปรุงการจัดการทหารใหม่ เพื่อลดความก้าวก่ายและสับสน โดยมีพระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการ ยกเลิกประกาศจัดการทหาร ร.ศ.๑๐๖ และเปลี่ยนชื่อกรมยุทธนาธิการ เป็น “กระทรวงยุทธนาธิการ” ทั้งนี้ การจัดส่วนราชการภายในกรมทหารเรือยังคงเป็นไปตามเดิม สำหรับกรมคลังพัศดุทหารเรือ นั้น มีการปรับปรุงภายในหน่วยงานโดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ดำเนินการมากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) อันทำให้ประเทศสยามต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับฝรั่งเศส จึงทำให้การจัดการทางทหารชะงักงันลงชั่วคราว ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ กรมทหารเรือ ได้มีการจัดส่วนราชการใหม่ แบ่งเป็น ๑๓ หน่วยขึ้นตรง ในการนี้ กรมคลังพัศดุทหารเรือ ยังคงมีฐานะเป็นหน่วยขึ้นตรงกรมทหารเรือเช่นเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้มีการปรับปรุงการจัดส่วนราชการในกรมทหารเรืออีกครั้ง เหลือเพียง ๔ หน่วยขึ้นตรง ในการนี้ “กรมคลังพัศดุทหารเรือ” ได้ถูกลดฐานะเป็น “กองพัศดุ” ขึ้นตรงต่อ กรมบัญชาการกลาง ดังนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ กรมทหารเรือ ได้จัดระเบียบการบริหารปกครองบังคับบัญชาขึ้นใหม่ ทำให้มีงาน ด้านอื่น ๆ เข้ามารวมกับงานของ กองพัศดุ และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “กรมยกกระบัตรทัพเรือ” ขึ้นตรงต่อ กรมบัญชาการกลาง มียกกระบัตรทัพเรือเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ อำนวยการและตรวจตราควบคุมการเบิกจ่ายและซื้อหาสิ่งของ แบ่งออกเป็น ๔ แผนก คือ

โดยเวรยุทธภัณฑ์และอาภรณ์ภัณฑ์ ทำหน้าที่ จัดซื้อสิ่งของและเครื่องแต่งกายทหารเพื่อแจกจ่ายให้หน่วยต่าง ๆ ส่วนเวรเสบียงและเลี้ยง ทำหน้าที่ เลี้ยงทหารในกรมกองต่าง ๆ ยกเว้นกรมทหารชายทะเล กองโรงเรียนนายเรือ และกองป้อมต่าง ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ กรมทหารเรือ ได้มีคำสั่งให้กรมกองต่าง ๆ จัดซื้อสิ่งของเครื่องใช้เอง เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทำให้เวรยุทธภัณฑ์และอาภรณ์ภัณฑ์ ปรับเปลี่ยนหน้าที่เป็นหน่วยรับฝากเท่านั้น โดยมีคลังต่าง ๆ ในสังกัดจำนวน ๕ คลัง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกฐานะกรมทหารเรือเป็น “กระทรวงทหารเรือ” และเปลี่ยนชื่อ กรมยุทธนาธิการ เป็น กระทรวงกลาโหม (ปกครองบังคับบัญชาเฉพาะกรมทหารบก) ในส่วนของกรมยกกระบัตรทัพเรือ นั้น ได้จัดส่วนราชการใหม่ ดังนี้

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงทหารเรือ ได้ยุบเลิกกรมยกกระบัตรทัพเรือ และจัดตั้งหน่วย ต่าง ๆ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยงานด้านพัสดุนั้น ได้ตั้ง “กองพัศดุทหารเรือ” ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ มีหน้าที่จัดซื้อและจ่ายเครื่องครุภัณฑ์ ลหุภัณฑ์ กับเสบียงอาหาร (ทำหน้าที่เลี้ยงทหารให้กรมกองต่าง ๆ ใหม่ หลังจากที่ได้ยกเลิกไปในปี พ.ศ.๒๔๔๙) และมี “กองสรรพายุธ” มาขึ้นอยู่กับกองพัศดุทหารเรือ วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ตราประจำชาด รูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปมัตสยา และมีลายวงขอบเป็นอักษรเบื้องล่างว่า “กองพัศดุทหารเรือ”เป็นตราตำแหน่งกองพัศดุทหารเรือ ดังรูป

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ กองพัศดุทหารเรือ ได้จัดตั้งคลังยุทธอาภรณ์เป็นหน่วยขึ้นตรง มีหน้าที่จัดทำและเก็บรักษาเครื่องแต่งกายสำหรับราชการทหารเรือ ต่อมาในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๙ กระทรวงทหารเรือ ได้ยกฐานะกองพัศดุทหารเรือ ขึ้นเป็น “กรมพัสดุทหารเรือ” มี “เจ้ากรมพัสดุ” เป็นผู้บังคับบัญชา สำหรับการจัดส่วนราชการคงเป็นไปตามเดิม และในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราประจำชาด รูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปมัตสยา และมีลายวงขอบเป็นอักษรเบื้องล่างว่า “เจ้ากรมพัสดุทหารเรือ” เป็นตราตำแหน่งเจ้ากรมพัสดุทหารเรือแทนตราประจำชาด “กองพัศดุทหารเรือ” พ.ศ.๒๔๗๖ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการกระทรวงทหารเรือใหม่ โดยลดสภาพกรมพัสดุทหารเรือ เป็น กองพัสดุทหารเรือ แต่การจัดส่วนราชการยังเป็นไปตามเดิมแต่ย่อขนาดลงมา หลังจากนั้น ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๖ ได้มีการปรับปรุงกองทัพเรืออีกครั้ง และยกสภาพกองพัสดุทหารเรือเป็น กรมพัสดุทหารเรือ (ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ กระทรวงทหารเรือ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองทัพเรือ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกทหารบก ว่า กองทัพบก) มีหน้าที่ในการจัดหา เก็บรักษา จ่าย และขนส่งบรรดาพัสดุ เครื่องอุปโภค บริโภค และเชื้อเพลิง มีกองบังคับการ และแบ่งกิจการออกเป็นหน่วยต่าง ๆ ดังนี้

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ กองทัพเรือ ได้มีคำสั่งที่ ๑๗๙/๙๓ เรื่อง แก้ชื่อหน่วยและตำแหน่งใน ข.ท.ร. และระเบียบทหาร ดังนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ มีการปรับโครงสร้างกองทัพเรือ โดยให้ กรมพลาธิการทหารเรือ ขึ้นตรงต่อกรม ยุทธบริการทหารเรือ และเมื่อเห็นว่าไม่เกิดผลดีด้านการบังคับบัญชา จึงได้ย้ายกลับไปขึ้นตรงต่อกองทัพเรืออีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีการจัดส่วนราชการและปรับปรุงอัตรากรมพลาธิการทหารเรือใหม่ มีพลาธิการทหารเรือ เป็นผู้บังคับบัญชา และรองพลาธิการทหารเรือ เป็นรองผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งมีการจัดหน่วยงานในสังกัด และตราประจำหน่วยงาน ดังนี้



ที่ตั้งเดิมของกรมพลาธิการทหารเรือ อยู่ที่ตึกหลังกองบัญชาการกองเรือยุทธการ ตรงข้ามกับศูนย์ ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ (คลองมอญ) ในปัจจุบัน ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๑๖ กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้ก่อสร้างอาคารกองบังคับการ คลังพัสดุ และโรงงาน รวม ๗ อาคาร ให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน หลังจากก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมพลาธิการทหารเรือ จึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน ตรงข้ามกรมอู่ทหารเรือ บนแปลงที่ดินราชพัสดุหมายเลข ทะเบียน กท.๒๐๔๙๒๒ (แปลงเดียวกับ กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ และศูนย์ ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ (คลองมอญ)) เลขที่ ๒ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๗๐๐

ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ กระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติอัตรากองเชื้อเพลิง เป็นหน่วยในสังกัด กรมพลาธิการทหารเรือ ประกอบด้วย คลังเชื้อเพลิง ๔ คลัง คือ คลังเชื้อเพลิงจุกเสม็ด คลังเชื้อเพลิงอู่ตะเภา คลังเชื้อเพลิงสัตหีบ และ คลังเชื้อเพลิงกรุงเทพ ฯ ทำให้ กรมพลาธิการทหารเรือ มีหน่วยขึ้นตรงรวมจำนวน ๙ หน่วย

ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ รมว.กห. (รมช.กห. ทำการแทน รมว.กห.) ได้อนุมัติลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ ท้ายบันทึก สนผ.กห. (ฉบับ กห. เลขรับ ๗๘๘/๒๗) เรื่อง ขออนุมัติแก้ไขอัตรา พ.ศ.๒๕๐๑ ให้กรมพลาธิการทหารเรือ มี “เจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ” เป็นผู้บังคับบัญชา และ “รองเจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ” เป็นรองผู้บังคับบัญชา และเพิ่มตำแหน่ง “ผู้ช่วยเจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ” พร้อมทั้งได้กำหนดหน่วยขึ้นตรงของกรมพลาธิการทหารเรือ รวมจำนวน ๑๒ หน่วย ดังนี้

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ รมว.กห. ได้อนุมัติแก้อัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ อนุมัติอัตราให้ศูนย์บริหารข่าวสารการพัสดุ เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมพลาธิการทหารเรือ อีก ๑ หน่วย เพื่อทำหน้าที่ จัดระบบและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัสดุให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางรวมถึงการจัดทำสมุดรายการพัสดุของกองทัพเรือสำหรับระบุพัสดุและเป็นรหัสที่ใช้ในคำสั่งเครื่องจักรคำนวณในการควบคุมรายการและจำนวนพัสดุ ทุกประเภท ที่จะมุ่งไปสู่งานส่งกำลังแบบประสมประสานในอนาคต จึงทำให้กรมพลาธิการมีหน่วยขึ้นตรงเพิ่มเป็น ๑๓ หน่วย

ต่อมา กระทรวงกลาโหม มีคำสั่ง (เฉพาะ) ลับมาก ที่ ๒๖๒/๕๔ ลงวันที่ ๕ เม.ย.๕๒ ให้แก้อัตรา กองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ ให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรมพลาธิการทหารเรือใหม่ โดยจัดตั้งกองบังคับการ และให้ ศูนย์ส่งกำลัง ซึ่งเดิมเป็นหน่วยขึ้นตรงฐานทัพเรือสัตหีบมาขึ้นตรงต่อกรมพลาธิการทหารเรือ ตลอดจนปรับแก้โครงสร้างและอัตรากำลังพลบางส่วน โดยมีเจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ ชั้นยศ พล.ร.ท. เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งในภาพรวมยังคงมีหน่วยขึ้นตรงจำนวนทั้งสิ้น ๑๓ หน่วย และเป็นโครงสร้างส่วนราชการที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้